เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 5. ปัญจกปุคคลบัญญัติ
หรืออยู่เรือนว่างแล้ว ย่อมนั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัด เธอถูกมาตุคามนั่งใกล้ชิด
นอนใกล้ชิด กอดรัดอยู่ก็ปลดเปลื้องเอาตัวรอดได้ หลีกไปตามที่ปรารถนา
ภิกษุนั้นย่อมเข้าสู่เสนาสนะอันสงัด เช่น ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า
ป่าทึบ กลางแจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น เธอละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌา ชำระจิต
ให้หมดจดจากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์
เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้หมดจดจากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ
ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้หมดจดจาก
ถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายใน ชำระจิตให้หมด
จดจากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้นวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัยใน
กุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชำระจิตให้หมดจดจากวิจิกิจฉา
ภิกษุนั้นละนิวรณ์ 5 ประการเหล่านี้ ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง บั่นทอนกำลัง
ปัญญา สงัดจากกาม สงัดจากสภาวธรรมที่เป็นอกุศล บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มี
วิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน
ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นอย่างนี้ น้อมจิตไป
เพื่ออาสวักขยญาณ เธอย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่ง
ทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้อาสวะ นี้เหตุเกิดแห่งอาสวะ
นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ”
เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า “หลุดพ้นแล้ว” รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหม-
จรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” นี้
คือการได้ชัยชนะในสงครามของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้นเห็นกลุ่มควันแล้วก็อดทนได้
เห็นปลายธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียงอึกทึกก็อดทนได้ ปะทะกันก็อดทนได้ นักรบ
อาชีพนั้น ชนะสงครามนั้นแล้ว เป็นผู้พิชิตสงคราม ย่อมครอบครองค่ายรบที่ชนะ
มานั้นนั่นแล แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็อุปมาฉันนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นเช่นนี้
บุคคลเปรียบเหมือนนักรบอาชีพ 5 จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :223 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 5. ปัญจกปุคคลบัญญัติ
[199] ในบทมาติกานั้น ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร 5 จำพวก เป็นไฉน
ภิกษุเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ มีความ
ปรารถนาเลวทราม ถูกความอยากครอบงำ เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะ
วิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเพราะคิดว่า “การถือ
บิณฑบาตเป็นวัตรนี้ พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้ากล่าวสรรเสริญ”
อีกประการหนึ่ง เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มัก
น้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลา
อย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการปฏิบัติในวัตรอันดีงามนี้อย่างเดียว บรรดา
ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใด เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความมักน้อย
อย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลาอย่าง
เดียว เพราะอาศัยความต้องการปฏิบัติในวัตรอันดีงามนี้อย่างเดียว ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ
ประเสริฐสุด เป็นประธาน สูงสุด และยิ่งใหญ่ที่สุด
เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจาก
นมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น ยอดเนยใสเกิดจากเนยใส ยอดเนยใสชาวโลกถือว่า
เป็นเลิศ ในบรรดานมสดเป็นต้นนั้น ฉันใด
บรรดาภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร 5 จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร
เพราะอาศัยความมักน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะ
อาศัยความขัดเกลาอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการปฏิบัติในวัตรอันดีงามนี้
อย่างเดียว เป็นผู้เลิศ ประเสริฐสุด เป็นประธาน สูงสุด และยิ่งใหญ่ที่สุด ฉันนั้น
ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร 5 จำพวกเหล่านี้
[200] บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้ถือการห้ามภัตอันเขานำมาถวายใน
ภายหลังเป็นวัตร 5 จำพวก ฯลฯ
ภิกษุผู้ถือการนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร 5 จำพวก
ฯลฯ
ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 5 จำพวก
ฯลฯ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :224 }